ชื่อเรื่อง          การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย  

                    แบบ ERACKA Model ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

ผู้วิจัย             นางสาวโชติกา  แย้มยิ้ม

ตำแหน่ง         ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ

สถานศึกษา     โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร

                    กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ปีที่พิมพ์         2562

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดการเรียนรู้การอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยแบบ ERACKA Model ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80  3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยแบบ ERACKA Model ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ปีที่ 3  4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยแบบ ERACKA Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) จำนวน 30 คน ที่กำลังเรียนปีการศึกษา 2562 ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม ใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนารวมทั้งใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสานวิธี โดยประยุกต์ใช้แบบแผนการวิจัยกึ่งทดลองตามรูปแบบ The One Group Pretest – Posttest Design ด้วยการศึกษาวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (Dependent Samples t-test)   

ผลการวิจัยพบว่า

1) สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้การอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า การจัดการเรียนรู้การอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทั้งจากตนเองและจากการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน การเรียนรู้ควรเป็นลักษณะที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่นๆ ในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสม ครูควรมีเทคนิคและรูปแบบวิธีการการสอนที่หลากหลายมาใช้ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ค้นหาความรู้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนความคิด การเสนอความคิด การอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในอ่าน          จับใจความสำคัญภาษาไทย และจะเป็นวิธีการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการอ่านจนสามารถพัฒนาสู่นิสัยรักการอ่านได้

2) รูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3  มีชื่อว่า ERACKA Model เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระบบโดยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้  โดยแบ่งการดำเนินการในกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็น 6 ขั้น ใช้ชื่อตามอักษรตัวแรกของแต่ละขั้นว่า ERACKA Model ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 E: Engagement (ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน) ขั้นที่ 2 R: Rendering (ขั้นนำเสนอสถานการณ์ทางภาษา) ขั้นที่ 3 A: Activating (รุกให้คิด) ขั้นที่ 4 C: Collaboration (ร่วมกันตกผลึกความรู้) ขั้นที่ 5 K: Knowledge Sharing (แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ) และขั้นที่ 6 A: Application (ประยุกต์ใช้ความรู้) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 83.26/88.66 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้

3) ความสามารถในการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 3  หลังการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยแบบ ERACKA Model สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้

4) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เน้นการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยแบบ ERACKA Model  มีค่าเฉลี่ยรวม 4.67 อยู่ในระดับมากที่สุด