Print
Category: Sample Data-Articles
Hits: 5489

 

                   โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนชาภูบาล ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร      จังหวัดอุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ ๓๔๑๑๐ โทรศัพท์ ๐๔๕-๔๔๑๑๗๘ โทรสาร ๐๔๕-441๗๕๘  E-mail Tassaban๑@thaimail.com Website : www.phoklang.ac.th สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เปิดสอนระดับชั้นก่อนประถมศึกษา ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๔๓ ห้องเรียน โรงเรียนมีเนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๒ งาน ๒๑ ตารางวา 

                   ประวัติความเป็นมาโรงเรียน (โดยสังเขป) เมื่อก่อนนี้ ท้องที่ตำบลพิบูลยังมิได้มีฐานะเป็นเทศบาล ตำบลพิบูลจึงแบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้านโดยเฉพาะเด็กนักเรียนในหมู่ที่ ๔ หมู่ ๑๒ และหมู่ที่ ๒๐ นี้ไปเรียนที่โรงเรียนประชาบาลตำบลพิบูล ๑ (วิพากย์วิทยากร) ต่อมาการศึกษาเจริญ พลเมืองหนาแน่น จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้น สถานที่โรงเรียนคับแคบ ประกอบกับหมู่ที่ ๔ ที่ ๑๓ และ ๒๐ อยู่ห่างไกลจากโรงเรียนทางราชการจึงตั้งโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม  ๒๔๗๗  ให้ชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลพิบูล ๕ (วัดแห่) โดยแยกเอานักเรียนสามหมู่บ้านดังกล่าว ซึ่งอยู่โรงเรียนประชาบาลตำบลพิบูล ๑ (วิพากย์วิทยากร)  มาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยอาศัยศาลาโรงธรรมวัดแห่เป็นสถานที่เรียน การตั้งและดำรงอยู่ด้วยเงินงบประมาณการประถมศึกษาและดำเนินการเจริญขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓  จึงได้งบประมาณปลูกสร้างอาคารเรียนสี่ห้องเรียน เปิดทำการสอนได้ตั้งแต่ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๓

              ต่อมาการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำเป็นเทศบาลตามพระราชบัญญัติระบุไว้ว่า โรงเรียนประชาบาล    ที่อยู่ในเขตเทศบาล ต้องโอนให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ  ดั้งนั้น โรงเรียนนี้ก็ได้โอนเป็นโรงเรียนเทศบาลครั้งแรกตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๘๓  และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง)    

              เมื่อวันที่  ๑  มกราคม ๒๔๘๗ ทางราชการเห็นว่าการให้เทศบาลจัดการศึกษา  เทศบาลยังขาดการงานและบุคลากรที่ชำนาญในด้านการศึกษาจึงให้โอนเป็นโรงเรียนประชาบาลอีก

              เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ทางราชการเห็นว่าโรงเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาล  ถึงแม้เทศบาลจะมิได้ดำเนินการเองก็ตาม แต่กฎหมายก็ยังมิได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแต่ประการใด หากเทศบาลยังมีกำลังเงินหรือบุคลากรเพียงพอเมื่อใด ก็โอนให้เทศบาลดำเนินการต่อไปอีก ฉะนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนในเขตเทศบาลจากประชาบาลเป็นเทศบาลอีกครั้ง ส่วนการควบคุมดำเนินการตลอดการเงินเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

              พ.ศ. ๒๕๑๑ เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนให้ต่อเติมอาคารเรียนทั้งสองข้างออกไปอีก ๖  ห้องเรียน  รวมเป็น ๑๒ ห้องเรียน กอปรด้วยทางเทศบาลเห็นว่า พลเมืองในเขตเทศบาล มีความต้องการจะให้บุตรหลานได้เข้าเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาตอนปลาย  จึงได้ขยายถึงประถมศึกษาตอนปลายตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๒ เป็นต้นมา

              พ.ศ. ๒๕๑๔  เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนให้ซ่อมแซมอาคารเรียนหลังเก่า โดยยกพื้นเปลี่ยนหลังคาให้ได้ระดับกับอาคารเรียนที่ต่อเติมเมื่อปี  ๒๕๑๑

              พ.ศ. ๒๕๑๕ เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนสร้างอาคารเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เทศบาลดำเนินการก่อสร้างตามแบบ ๐๐๔ ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสร้างเพียงชั้นบนก่อน แต่เทศบาลสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนมาต่อเติมอาคารชั้นล่าง แต่เนื่องจากเทศบาลดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้ก่อสร้างอาคาร ๒ ไปอีก ๖ ห้อง

              พ.ศ. ๒๕๒๔ เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนก่อสร้างอาคารเรียนตามแบบ  ๒๑๖  ของกรมสามัญศึกษา จำนวน ๘ ห้องเรียน ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแต่ยังไม่เต็มแบบเพราะแบบมี ๑๖ ห้องเรียน

              พ.ศ. ๒๕๓๔ เทศบาลได้รับเงินอุดหนุนสร้างอาคารเรียนหลังใหม่แทนอาคารเรียนหลังเก่า (อาคาร ๑)  ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓

              พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับเงินอุดหนุนสร้างอาคารอเนกประสงค์  ๑  หลัง

              พ.ศ. ๒๕๓๙ โรงเรียนเข้าโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

              พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับเงินอุดหนุนก่อสร้างอาคารเรียนมัธยมศึกษา ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (สน.ศท. ๔/๑๒)

              พ.ศ. ๒๕๔๓  ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างต่อเติมอาคารเรียน อาคาร ๓ ตามเดิมที่มี ๘  ห้องเรียนเพิ่มเติมอีก ๖ห้องเรียนเป็น ๑๔ ห้องเรียน ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ทำการเรียนการสอนนักเรียนในช่วงชั้นที่  ๒  ในปัจจุบัน

              พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารอนุบาลขนาด ๘ ห้องเรียน ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น

              พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น(สน.ศท.๔/๑๒) ทำการเรียนการสอนนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ ๔-๖

              พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารอนุบาลขนาด ๘ ห้องเรียน ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น

               พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (สน.ศท. ๔/๑๒) ทำการเรียนการสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓

              พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน  ตามแบบแปลนของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (สน.ศท. ๔/๑๒) ทำการเรียนการสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ จนถึงปัจจุบัน